แพกเกจจิ้ง หรือ บรรจุภัณฑ์ ในยุคปัจจุบันนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เป็นแรงสนับสนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ยังมีเรื่องของความสวยงาม คงทน โดดเด่น และต้องตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการสร้างคุณค่าต่อสังคมด้วย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่สามารถฝ่ากระแสและเติบโตขึ้นได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์” นั่นเป็นเพราะผู้คนจะต้องมีการบริโภคอยู่เสมอ ซึ่งการพัฒนาของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะเห็นได้จากรูปแบบของผลิตภัณฑ์ วัสดุแปลกใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น จากเดิมที่เคยใช้ไม้ ได้พัฒนามาเป็นโลหะ จากนั้นเปลี่ยนมาใช้พลาสติก และในปัจจุบันก็ได้กลับมาใช้วัสดุธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างถูกพัฒนาขึ้นมาไม่เพียงเพื่อรูปลักษณ์ที่สวยงานแต่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย
จากงานวิจัยของ Westrock บริษัทบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นบริษัทบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาเรื่อง "ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภค" พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ ประกอบด้วย
66% เป็นลูกค้าใหม่ที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าครั้งแรกจากบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดสายตา
60% เป็นลูกค้าเดิมที่ซื้อสินค้าซ้ำเนื่องจากประทับใจในบรรจุภัณฑ์
52% เป็นลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์เพราะบรรจุภัณฑ์ทำให้สินค้ามีความปลอดภัยมากขึ้น
45% เป็นลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
35% เป็นลูกค้าที่เปลี่ยนแบรนด์เพราะบรรจุภัณฑ์ใหม่ของสินค้าเดิมไม่สวยดังเดิม
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรม และทิศทางการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงแนวโน้มของเทรนด์บรรจุภัณฑ์ในปี 2564 เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย กินได้, สร้างสรรค์, ไบโอ, รีไซเคิล
1. บรรจุภัณฑ์กินได้
เนื่องจากผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการหันมาใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน แม้ว่าหลายธุรกิจจะปรับตัวมาใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นแล้ว แต่ก็ถือได้ว่ายังเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอยู่ดี ดังนั้นหากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้จะช่วยให้ปริมาณขยะลดลง อย่างเช่น ฟิล์มแคร์รอต ผลงานการวิจัยจาก กรมวิชาการเกษตรที่สามารถรับประทานได้ ทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีนอีกด้วย (beta-Carotene)
2. บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์
บรรจุภัณฑ์ที่เน้นแข่งขันกันในด้านของความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบสิ่งของ หรือแม้แต่ต่อยอดให้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านได้อีกด้วย จึงถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ควรมองข้าม ยกตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ Milk Bone บรรจุภัณฑ์อาหารสุนัขที่มีการทำกล่องบรรจุภัณฑ์เป็นรูปสุนัขที่สามารถดึงส่วนปากของสุนัขเพื่อเทอาหารได้
3. บรรจุภัณฑ์ไบโอ
บรรจุภัณฑ์ไบโอ หรือบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ 100% ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ ขยะล้นโลก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ทั่วโลกกลับมาตระหนักถึงปัญหานี้ จนนำมาสู่การวิจัยและพัฒนาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ในช่วงที่ผ่านมา จึงจะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เองนั้น ถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี
4. บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล
การนำขยะมารีไซเคิล ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ อาทิ กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และ กล่องไปรษณีย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น การที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลเพื่อสอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลก หรืออาจนำบรรจุภัณฑ์กระดาษไปพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะได้อีกทางหนึ่ง อาทิ การนำกระดาษรีไซเคิลมาเป็นขวด และ โต๊ะเรียนหนังสือจากล่องไปรษณีย์ไทย เป็นต้นค่ะ
นี่คือส่วนหนึ่งของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม และอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะบริษัทใหญ่เท่านั้นที่ต้องดำเนินการ แม้กระทั่งธุรกิจเล็ก ๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ในยุคนี้ค่ะ
อ้างอิง:
- บทความงานวิจัย Packaging Matters™ Consumer Insights Study, เข้าถึงจาก Westrock.com
- บทความ 4 เทรนด์แพกเกจจิ้งปี 2021 , เข้าถึงจาก Salika.co
- ข่าวสาร กสอ.เผย 4 เทรนด์แพกเกจจิ้งสร้างสรรค์-รักษ์โลก, เข้าถึงจาก Mgronline.com
Kommentare